หลังชุมชนบ้านเกาะจิกรับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ด้านพลังงานหมุนเวียนดีเด่น เกาะจิกรีชาร์จ ไมโครกริด พลังงานทดแทนแบบผสมผสานสู่ความยั่งยืน นับเป็นเกียรติยศ รวมทั้งสร้างชื่อเสียง ให้กับผู้ที่ผลักดันการใช้พลังงานทดแทน

ขณะที่ ชาวเกาะจิกเองกลับมองว่า รางวัลที่น่าชื่นชมนี้ ไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านเกาะจิกจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง

พื้นที่ 700 ไร่ ของบ้านเกาะจิก ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เดิมเคยมีประชากรอาศัย อยู่อย่างหนาแน่น แม้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านก็สู้ หาน้ำมันดีเซลมาปั่นไฟใช้ เพราะเลือกลงหลักปักฐาน ยึดอาชีพประมงพื้นบ้าน เลี้ยงครอบครัว

การก้าวเข้ามาของพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้านเกาะจิกดีขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยราคา ที่ต้องจ่าย คือ ค่าไฟฟ้ายูนิตละ 13 บาท ซึ่งแพงกว่าราคา ที่คนบนฝั่งจ่าย ถึง 3 เท่า

จินตนา ชัยสาครสมุทร ชาวบ้านเกาะจิก อดีตครู ยอมรับว่ารางวัล ASEAN Energy Awards 2023 ที่ชุมชนเกาะจิกได้รับ คนทั่วไปอาจจะชื่นชม แต่ชาวบ้านที่อยู่ก็ยังต้องแบกรับค่าไฟ ราคายูนิตละ 13 บาทต่อไป ไม่ได้ลดลงแม้แต่สตางค์เดียว

สำหรับลักษณะการจ่ายค่าไฟฟ้าของชาวบ้าน บนเกาะจิก อยู่ในรูปแบบ จ่ายก่อน ใช้ทีหลัง คือต้องระบุจำนวนยูนิต และไปจ่ายเงินผ่านตัวแทนชาวบ้าน จากนั้นรับเลขรหัส แล้วนำกลับมาบันทึกบนกล่องมิเตอร์ จึงจะสามารถใช้ไฟฟ้า ได้ตามปกติ

ทำให้การใช้ไฟฟ้าของชาวบ้าน จำกัดอยู่กับเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต่อชีวิต ประเภทพัดลม หม้อหุงข้าว ไฟฟ้าแสงสว่าง ส่วนที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือเครื่องทำน้ำอุ่น กลายเป็นสินค้าต้องห้ามบนเกาะ

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะจิก เริ่มต้นในปี 2547 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี สนับสนุบงบประมาณ จนเกิดเป็นไฟฟ้าพลังงาน ทดแทน ทั้งจาก โซลาร์ เซลล์ น้ำมันดีเซล และกังหันลม ใช้สับเปลี่ยนหมุนเวียน จนชาวบ้านเกาะจิกมีโอกาสใช้ไฟฟ้าได้ ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายสหัส ชัยสาครสมุทร ชาวบ้านเกาะจิก ที่ทำหน้าที่เป็นประธานโรงเรือนผลิตไฟฟ้า เกาะจิก ยอมรับว่า การจะได้เห็นไฟฟ้าลากสายมาที่เกาะจิก ที่ห่างฝั่งจันทบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตรคงเป็นไปได้ยาก แต่เชื่อมั่นว่าความยั่งยืนในด้านพลังงาน จะนำมาซึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มโฮมสเตย์ ที่คนเกาะจิกเอง อาจจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะ ธรรมชาติบนเกาะยังคงสวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ถ้ามีน้ำ และไฟ พร้อมกว่านี้

ปัจจุบัน กระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ เซลล์ ที่ชาวเกาะจิกใช้มี 2 ส่วน คือจากโรงเรือนผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิต 40.5 กิโลวัตต์ จากองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดจันทบุรี

และระบบไมโครกริด จากภาคเอกชน ผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 72 กิโลวัตต์ สลับกันใช้และสลับกับชาร์จ โดยมีตัวแทนชาวบ้าน สลับระบบผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ

เมื่อถูกยกให้เป็นชุมชน Low Carbon ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่ชาวบ้านกลับตั้งคำถาม ว่าทั้งหมดนี้คือเส้นทางสู่ความยั่งยืนจริงหรือ
เพราะพลังงานสะอาดที่แลกมากับค่าสาธารณูปโภค ที่สูงถึง 3 เท่า อย่างที่เป็นอยู่นี้ กำลังพาให้คนท้องถิ่นทิ้งบ้านเกิด คนวัยหนุ่มสาว ต้องออกไปหางานทำ เอารายได้มาจุนเจือ และจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าโซลาร์ เซลล์ ให้กับพ่อแม่วัยชรา ที่ยังเชื่อว่าทุกอย่างอาจจะดีขึ้นในสักวัน

ภาพ/ข่าว จินตนา กุศล